เตรียมรับมือหากธุรกิจ SMEs เริ่มขาดสภาพคล่อง ผู้ประกอบการรับมืออย่างไรดี

เตรียมรับมือหากธุรกิจ SMEs เริ่มขาดสภาพคล่อง ผู้ประกอบการรับมืออย่างไรดี

ไม่ว่าจะเป็นการธุรกิจใดย่อมมีความเสี่ยงเสมอ แม้มีผู้ประกอบการที่เริ่มต้นธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จเป็นจำนวนมากแต่ก็ยังมีอีกหลายท่านที่เกิดการสะดุดในการทำธุรกิจนำไปสู่การตัวลงของกิจการ การวางแผนบริหารจัดการในด้านต่าง ๆ รวมถึงการวางแผนเพื่อรับมือกับปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ธุรกิจดำเนินอย่างราบรื่น ธุรกิจ SMEs ก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง รวมถึงธุรกิจขนาดใหญ่แม้เป็นธุรกิจที่สามารถเข้าถึงและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดีก็ย่อมมีความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ เช่นกัน จนอาจนำไปสู่การขาดสภาพคล่องทั้งทางการเงิน การบริหารจัดการสินค้า บุคลากร เป็นต้น

สำหรับผู้ประกอบการมือใหม่หรือใครที่กำลังเริ่มทำธุรกิจ SMEs มาเตรียมวิธีรับมือในกรณีที่ธุรกิจของเราอาจขาดสภาพคล่องไปพร้อมกัน


เช็กด่วน!!! สัญญาณเตือนธุรกิจ SMEs เริ่มขาดสภาพคล่อง

ก่อนไปดูวิธีรับมือกับธุรกิจ SMEs ขาดสภาพคล่องเรามาเช็กสัญญาณเตือนก่อนว่ามีสัญญาณไหนบ้างที่เริ่มเตือนว่าธุรกิจ SMEs ของเราเริ่มมีความเสี่ยงต่อการขาดสภาพคล่อง เพราะการเห็นสัญญาณและมีแผนรองรับล่วงหน้าจะช่วยให้เรารับมือกับเหตุไม่คาดฝันต่างๆได้ดี และช่วยลดความเสี่ยงต่อปิดกิจการ

รายได้ลดลง : หากยอดขายหรือรายได้ค่อย ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง นั่นเป็นสัญญาณแรกที่เริ่มเตือนว่าธุรกิจ SMEs ของเรากำลังเริ่มเข้าสู่ภาวะขาดสภาพคล่อง อาจต้องกลับมาวิเคราะห์หาสาเหตุของรายได้ลดลงมีที่มาจากอะไรเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด เพราะการที่รายได้ลดลงและลดลงอย่างต่อเนื่องไม่เพียงมีผลต่อยอดขายและกำไรเท่านั้น รายได้จากการขายสินค้าอาจเป็นส่วนหนึ่งที่เราต้องนำไปซื้อวัตถุดิบ ชำระค่าต่าง ๆ หรือลงทุนต่อ รวมถึงเงินสำหรับค่าตอบแทนพนักงาน เป็นต้น

สินค้าค้างอยู่ในสต็อกนานขึ้น : อาจเป็นผลกระทบจากการที่มีรายได้ลดลงเนื่องจากรายได้ลดลง แสดงว่าเราอาจขายสินค้าได้จำนวนน้อยลงทำให้มีปริมาณของสินค้าค้างอยู่ในสต็อกมากขึ้น หากสินค้าเราเป็นสินค้าที่เก็บได้เป็นเวลานานอาจพอที่จะมีเวลาระบายสินค้านั้นได้และได้เงินกลับคืนมา แต่หากเป็นสินค้าที่ไม่สามารถเก็บได้นานการที่มีสินค้าค้างสต๊อกจำนวนมากอาจทำให้เกิดปัญหาสินค้าเน่าเสีย หมดอายุ หรือเสื่อมประสิทธิภาพลงไม่สามารถนำมาจำหน่ายต่อได้จึงทำให้สูญเสียรายได้และกำไรในส่วนนี้

การชำระเงินของคู่ค้าที่เปลี่ยนแปลงไป : แม้ไม่ได้ไม่เกิดขึ้นที่ตัวสินค้าหรือบริการของเราโดยตรง แต่การที่คู่ค้าผิดชำระเงินหรือค้างค่าชำระนานเกินไปรวมถึงมีกำหนดการชำระเงินล่าช้าจากเดิมย่อมส่งผลต่อธุรกิจของเราในการนำเงินจากแหล่งดังกล่าวมาหมุนเวียนในธุรกิจ หากเราไม่มีเงินสำรองเพื่อพอที่จะแก้จุดนี้ได้ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าธุรกิจของเราเริ่มขาดสภาพคล่อง

เงินจมอยู่ในสินทรัพย์ที่ยังไม่ก่อให้เกิดรายได้ : สินทรัพย์ในส่วนนี้อาจหมายถึงการตกแต่งร้าน ค่าเช่าที่รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เป็น Fixed Cost จ่ายทุกเดือน เป็นต้น เนื่องจากสินทรัพย์บางรายการที่เราปรับปรุงและพัฒนาขึ้นเพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้าแต่ความจริงแล้วไม่ตรงกับความต้องการของลูกค้า จึงทำให้เกิดการจมทุนบางส่วนกับสินทรัพย์ที่ไม่สามารถก่อให้เกิดรายได้ได้


How to เปิดเคล็ด (ไม่) ลับเตรียมรับมือหากธุรกิจ SMEs เริ่มขาดสภาพคล่อง มือใหม่ไม่ควรพลาด

How to เปิดเคล็ด (ไม่) ลับเตรียมรับมือหากธุรกิจ SMEs เริ่มขาดสภาพคล่อง

ติดตามและวิเคราะห์การเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่องและเป็นประจำ : ผู้ประกอบการควรรู้สถานการณ์แนวโน้มของธุรกิจของเราเป็นไปในทิศทางไหนและมีการวิเคราะห์การเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่องแม้มีหรือไม่มีปัญหาก็ตาม เพื่อให้เราเข้าใจและสามารถบริหารจัดการ วางแผนเกี่ยวกับทิศทางของธุรกิจได้อย่างครอบคลุมและมีแผนเพื่อรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ

ตรวจสถานะเงินสดของกิจการเป็นประจำ : โดยเปรียบเทียบรายได้และยอดขายของอดีตและปัจจุบันเทียบกันรวมทั้งการประมาณการในอนาคต เพื่อให้ทราบว่ามีข้อผิดพลาดส่วนไหนและสามารถวางแผนรับมือจัดการได้อย่างรวดเร็ว ควรทำอย่างสม่ำเสมอยิ่งถี่ยิ่งดี รวมทั้งคำนวณงบประมาณต่างๆที่ต้องใช้ในแต่ละส่วนรวมถึงคำนวณยอดขายและผลกำไรอย่างต่อเนื่อง และควรมีบัญชีรายรับ-รายจ่ายที่ชัดเจนเพื่อรองรับความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ

เจรจากับคู่ค้า : การเจรจากับคู่ค้าในที่นี้รวมถึงกรณีที่ธุรกิจเรามีการกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนและต้องผ่อนชำระคืนภายหลัง เมื่อประเมินแล้วว่าธุรกิจของเราเริ่มขาดสภาพคล่องการเข้าไปเจรจากับเจ้าหนี้ในการกู้ยืมเงิน รวมถึงเจ้าหนี้จากซัพพลายเออร์ต่าง ๆ ที่เรามีส่วนร่วมในธุรกิจเพื่อขยายเวลาชำระหนี้และเกิดข้อตกลงที่สามารถประนีประนอมกันได้ อีกทั้งลูกหนี้การค้า (ลูกค้า) ที่มีการค้างชำระหรือชำระล่าช้าจากเดิมเราควรเริ่มเข้าไปเจรจาและมีการกำหนดข้อตกลงหรือนโยบายการชำระเงินและรับเงินอย่างชัดเจนเพื่อให้สามารถนำเงินส่วนนี้มาบริหารจัดการธุรกิจต่อได้และจะช่วยให้เรามีเงินหมุนเวียนในธุรกิจได้คล่องขึ้น

ยื่นขอสินเชื่อระยะสั้น จากสถาบันการเงิน : หากทราบแล้วว่าธุรกิจของเราขาดสภาพคล่องทางการเงินและต้องการให้ธุรกิจยังสามารถเดินต่อไปได้ การยื่นขอสินเชื่อระยะสั้นกับสถาบันทางการเงิน สำหรับแก้ไขสถานการณ์ ประเมินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ว่าเราต้องการเงินสดอีกเท่าไหร่เพื่อใช้เป็นทุนสำรองในกิจการ อย่างไรก็ตามการไม่มีหนี้หรือกู้เงินเพื่อบริหารธุรกิจเป็นสิ่งที่ดีที่สุด


สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจ SMEs หรือธุรกิจใด ๆ สภาพคล่องทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญมาก ดังนั้นเมื่อคิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจ SMEs ควรมีเงินทุนสำรองเพียงพอต่อการบริหารจัดการในทุกด้านเพื่อเป็นการลดและการกระจายความเสี่ยงจากการทำธุรกิจ เมื่อทำธุรกิจแล้วใคร ๆ ก็หวังให้ธุรกิจนั้นเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุดระหว่างทางจนไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่เราไม่รู้อนาคตว่าธุรกิจจะเป็นอย่างไร ดังนั้นการเตรียมรับมือและวางแผนเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น สำหรับใครที่อยากทำธุรกิจ SMEs หรือกำลังเริ่มต้นธุรกิจหากเราทราบวิธีรับมือกับภาวะขาดสภาพคล่องของธุรกิจ จะช่วยลดความเสี่ยงและสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที
Posted in SME