ชวนรู้จักธุรกิจ SME ก่อนลงทุนเตรียมตัวอย่างไร

ชวนรู้จักธุรกิจ SME ก่อนลงทุนเตรียมตัวอย่างไร

เชื่อว่าหลายคนอาจเคยได้ยินและคุ้นกับคำว่า “ธุรกิจ SME” เพื่อน ๆ ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจอาจทราบแล้วว่าเจ้าธุรกิจ SME คืออะไร สำหรับมือใหม่หรือเพื่อน ๆ ที่กำลังเข้าสู่วงการของการทำธุรกิจอาจสงสัยว่ามันคืออะไร คือธุรกิจแบบไหน ทำไมถึงเป็นที่น่าจับตาและมาแรงในปัจจุบัน วันนี้เราจะพาเพื่อน ๆ มาทำความรู้จักกับธุรกิจ SME ว่ามันคืออะไรก่อนไปเริ่มลงทุน และต้องการลงทุนควรเตรียมตัวอย่างไร


ไขข้อข้อใจธุรกิจ SME คืออะไร

ธุรกิจ SME (Small and Medium Enterprises) หรือ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นธุรกิจที่มีรายได้สินทรัพย์และพนักงานไม่มาก ดำเนินการโดยผู้ประกอบการรายย่อยมีความเป็นอิสระไม่ขึ้นอยู่กับกลุ่มธุรกิจใด ๆ ธุรกิจ SME เป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงในไม่มาก จุดเด่นของธุรกิจ SME คือการดำเนินธุรกิจในสินทรัพย์ที่จับต้องได้ ครอบคลุมไปถึงธุรกิจเกี่ยวกับการผลิต การเกษตร โรงแรม อาหาร สินค้าและบริการ เป็นต้น ทั้งกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ประกอบไปด้วย คณะบุคคล บุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธุรกิจ SME จึงเป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้ความสนใจและได้รับความนิยมในปัจจุบัน เพราะใช้เงินลงทุนไม่มากเราก็สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้แล้ว


รู้จักธุรกิจ SME มีกี่ประเภทอะไรบ้าง?

ทราบกันแล้ววาธุรกิจ SME คืออะไร ทำไมผู้ประกอบการรุ่นใหม่จึงให้ความสนใจและได้รับความนิยมในปัจจุบัน ก่อนไปถึงการเตรียมลงทุนเราอาจต้องทราบก่อนว่าธุรกิจ SME แบ่งเป็นกี่ประเภท ปัจจุบันสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กำหนดขนาดของวิสาหกิจเป็น 3 ขนาด (MSME) คือ วิสาหกิจรายย่อย (Micro) วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) และวิสาหกิจขนาดกลาง (Medium) ดังนั้นธุรกิจ SME จะครอบคลุมกิจการหลัก 3 กิจการ ได้แก่


กิจการการผลิต : เป็นธุรกิจขนาดย่อยไปจนถึงขนาดกลาง ดำเนินกิจการทั้งในด้านการเกษตร อุตสาหกรรม กิจการเหมืองแร่ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มีเกณฑ์การแบ่งดังนี้
– วิสาหกิจรายย่อย : มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี และมีจำนวนการจ้างพนักงานไม่เกิน 5 คน
– วิสาหกิจขนาดย่อม : มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี และมีจำนวนการจ้างพนักงานไม่เกิน 50 คน
– วิสาหกิจขนาดกลาง : มีรายได้ไม่เกิน 100-500 ล้านบาท/ปี และมีจำนวนการจ้างพนักงานตั้งแต่ 50-200 คน


กิจการการค้า : ธุรกิจขนาดย่อยไปจนถึงขนาดกลาง ครอบคลุมกิจการเกี่ยวกับการค้าทั้งค้าส่งและค้าปลีก รวมถึงกิจการการนำเข้า-ส่งออกสินค้า ไม่ครอบคลุมกิจการผลิตเน้นการค้าขายเพียงอย่างเดียว มีเกณฑ์การแบ่งดังนี้
– วิสาหกิจรายย่อย : มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี และมีจำนวนการจ้างพนักงานไม่เกิน 5 คน
– วิสาหกิจขนาดย่อม : มีรายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี และมีจำนวนการจ้างพนักงานไม่เกิน 30 คน
– วิสาหกิจขนาดกลาง : ธุรกิจที่มีรายได้ไม่เกิน 50-300 ล้านบาท/ปี และมีจำนวนการจ้างพนักงานไม่เกิน 30-100 คน


กิจการบริการ : ธุรกิจขนาดย่อยไปจนถึงขนาดกลาง ครอบคลุมกิจการเกี่ยวกับร้านอาหาร ร้านค้า สุขภาพ การโรงแรม สถานบันเทิง ธุรกิจทางด้านการท่องเที่ยว การศึกษา การประกันภัย การขนส่ง เป็นต้น มีเกณฑ์การแบ่งดังนี้
– วิสาหกิจรายย่อย : มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี และมีจำนวนการจ้างพนักงานไม่เกิน 5 คน
– วิสาหกิจขนาดย่อม : มีรายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี และมีจำนวนการจ้างพนักงานไม่เกิน 30 คน
– วิสาหกิจขนาดกลาง : ธุรกิจที่มีรายได้ไม่เกิน 50-300 ล้านบาท/ปี และมีจำนวนการจ้างพนักงานไม่เกิน 30-100 คน


อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ SME เตรียมตัวอย่างไร

อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ SME เตรียมตัวอย่างไร

1. รู้จักตัวเอง : ไม่ว่าจะทำธุรกิจไหนการรู้จักตัวเองก่อนเป็นสิ่งแรกที่ผู้ประกอบการควรมี ควรรู้ว่าเราต้องการอะไรอยากทำอะไร มีเป้าหมายชัดเจน อยากทำธุรกิจนั้นจริงหรือไม่ตอบคำถามตัวเองให้ได้และมีเป้าหมายที่ชัดเจน

2. รู้จักตลาด : สินค้าหรือบริการของเราเหมาะกับกลุ่มเป้าหมายแบบใด มีคู่แข่งทางการตลาดหรือไม่มากน้อยเพียงใด รู้จักจุดเด่นจุดด้อยทั้งของสินค้าหรือบริการเราและคู่แข่ง ความต้องการของลูกค้าเป็นแบบใด สินค้าหรือบริการของเราตอบโจทย์และแก้ไขความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้หรือไม่ รวมถึงศึกษาพฤติกรรมการซื้อขายของกลุ่มเป้าหมายคุณ (Customer profile) หรือศึกษาตลาดเชิงลึก เพื่อให้เข้าใจปัญหาของผู้บริโภคและเพื่อปรับปรุงสินค้าและบริการให้ตรงตามความต้องและแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคได้ และแนวโน้มการต่อยอดและการพัฒนาสินค้าหรือบริการให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของตลาด

3. รู้จักแหล่งเงินทุน : แม้ธุรกิจ SME เป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนไม่มาก แต่การรู้แหล่งของเงินทุนเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจหรือเป็นเงินสำรองของธุรกิจก็เป็นสิ่งสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจและให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างไม่สะดุด ปัจจุบันแหล่งเงินทุนเพื่อธุรกิจสำหรับ SME ยุคดิจิทัลมีทั้งหมด 4 แหล่งได้แก่
– คราวด์ฟันดิง แพลตฟอร์ม (Crowdfunding Platform)
– พาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ (Ecosystem หรือ Supply Chain Finance)
– ธนาคารพาณิชย์
– บริษัทผู้รับซื้อลูกหนี้ (Factoring Company)

4. รู้จักเทคโนโลยี : เทคโนโลยีและความก้าวหน้าทั้งด้านเครื่องมือ เครื่องกลการผลิต สื่อออนไลน์ นวัตกรรมต่างๆ มีส่วนช่วยให้สินค้าหรือบริการเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย อีกทั้งเครื่องทุ่นแรงต่างๆยังช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิต ลดต้นทุนได้และช่วยในการส่งเสริมการขายได้อีกด้วย

5. เดินหน้าตามแผน : เมื่อวางแผนรู้ตัวเอง ตลาด รู้จักแหล่งเงินทุน รวมถึงการวางแผนในด้านต่างๆเช่นการบริหารงาน บริหารคน บริหารเงิน อย่างมีแบบแผนแล้วก็เริ่มเดินตามแผนที่วางไว้ได้เลย


เพื่อน ๆ คนไหนที่กำลังอยากเริ่มลงทุนทำธุรกิจ การลงทุนในธุรกิจประเภท SME อาจตอบโจทย์มือใหม่ที่เพิ่งเริ่มลงทุนในระยะแรก เพราะมีเงินทุนไม่มากก็สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการได้ ธุรกิจ SME จึงตอบโจทย์ผู้ประกอบการรายใหม่และรายย่อยที่อยากหันมาลงทุนเป็นเจ้าของกิจการ

ปัจจุบันธุรกิจนี้ยังได้รับการสนับสนุนทั้งจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนอีกด้วย อีกทั้งเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญและเป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ยังเป็นธุรกิจที่สามารถบริหารจัดการได้ง่าย เข้าถึงลูกค้าได้ง่าย เพื่อน ๆ คนไหนสนใจและอยากลองทำธุรกิจอย่าลืมหาข้อมูลเพิ่มเติมและศึกษารายละเอียดก่อนการลงทุนทุกครั้ง